เที่ยวเยาวราช

เที่ยวเยาวราช ชุมชนชาวไทยเชื้อสายจีน สัมผัสวัฒนธรรมที่ผสมผสานระหว่างจีนและไทย แวะทานสตรีทฟู้ด กราบไหว้ขอพรสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในวัดและศาลเจ้าชื่อดังเพื่อความเป็นสิริมงคล

เที่ยวเยาวราช ชุมชนชาวไทยเชื้อสายจีน สัมผัสวัฒนธรรมที่ผสมผสานระหว่างจีนและไทย แวะทานสตรีทฟู้ด กราบไหว้ขอพรสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในวัดและศาลเจ้าชื่อดังเพื่อความเป็นสิริมงคล

รีวิวเที่ยวเยาวราช

เกร็ดความรู้เกี่ยวกับเยาวราช

ที่มาของถนนเยาวราช

ถนนเยาวราช ตั้งอยู่ที่ถนนเจริญกรุง แขวงป้อมปราบ เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพฯ สร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวหรือในหลวงรัชกาลที่ 5 ตามโครงการถนนอำเภอสำเพ็ง ซึ่งเป็นนโยบายเพื่อสร้างถนนในท้องที่ที่เจริญแล้ว ซึ่งใช้เวลาสร้างนานกว่า 8 ปี จุดประสงค์เพื่อส่งเสริมการค้าขายภายในจังหวัด แต่เดิมถนนเยาวราชนั้นมีชื่อว่า "ถนนยุพราช" ต่อมาพระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อใหม่เป็น “ถนนเยาวราช” ทั้งนี้ถนนเยาวราชมีความยาวเพียง 1.5 กิโลเมตร เนื่องจากบริเวณนั้นเป็นชุมชนที่มีชาวไทยเชื้อสายจีนอาศัยอยู่มากมาย จึงทำให้การตัดถนนผ่านบริเวณนั้นเป็นเรื่องที่ยุ่งยากและมีอุปสรรคเยอะพอสมควร อีกทั้งพระองค์ยังมีความประสงค์ไม่ให้ตัดถนนผ่านพื้นที่อยู่อาศัยของชาวบ้าน โดยให้ตัดผ่านแนวเดิมที่เป็นทางเกวียนหรือแนวทางเดินมากที่สุด จึงทำให้ถนนมีความคดเคี้ยวคล้ายมังกร ถนนนี้มจึงมีอีกชื่อว่า "ถนนมังกร" นั่นเอง ปัจจุบัน ถนนเยาวราช หรือ ไชน่าทาวน์ ถือเป็นย่านเศรษฐกิจที่สำคัญมากในกรุงเทพฯ ถนนแห่งนี้จะคึกคักทั้งวัน โดยเฉพาะช่วงกลางคืน เต็มไปด้วยร้านค้าที่มีกลิ่นอายความเป็นจีน ผสมผสานกับวัฒนธรรมไทย มีทั้งร้านค้า ร้านอาหาร ร้านทอง ธนาคาร วัดวาอารามและแหล่งท่องเที่ยวมากมาย เป็นแหล่งรวมของอาหารสตรีทฟู้ดและร้านอาหารเลิศรส ที่สามารถดึงดูดให้นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ รวมถึงคนไทยเองมาท่องเที่ยวในย่านเยาวราชแบบไม่ขาดสาย

10 พิกัดที่เที่ยวในเยาวราชที่ต้องเช็คอิน

1. วัดเล่งเน่ยยี่ หรือ วัดมังกรกมลาวาส

วัดมังกรกมลาวาส หรือ วัดเล่งเนยยี่ เป็นวัดจีนในกรุงเทพฯ ที่มีชื่อเสียงมากๆ ในเรื่องของการขอพรแก้ชงและการเสริมดวง เป็นวัดในสังกัดคณะสงฆ์จีนนิกายแห่งประเทศไทย สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2414 เป็นวัดที่มีสถาปัตยกรรมจีนที่สวยงามยิ่งนัก โดยมีแปลนตามแบบฉบับของวัดหลวง ด้านหน้าเราจะพบกับวิหารท้าวโลกบาล ทั้ง 4 ซึ่งชาวจีนจะเรียกว่า 'ซี้ไต๋เทียงอ้วง' หมายถึงเทพเจ้าที่ปกปักษ์รักษาคุ้มครอง ทิศต่างๆ ทั้ง 4 ทิศ ส่วนวิหารหลังแรกจะประดิษฐาน 'ไท่ส่วยเอี๊ย' ซึ่งเป็นเทพผู้คุ้มครองชะตาชีวิต ปึงเถ่ากงม่า ไฉ่สิ่งเอี๊ย ซึ่งเป็นเทพเจ้าโชคลาภ และฮั่วท้อหรือฮัวโต๋ เป็นเทพหมอเทวดา อีกทั้งยังมีวิหารพระกษิติครรภ์โพธิสัตว์ วิหารเจ้าแม่กวนอิ และวิหารอื่นๆ อีกมากมาย จึงไม่แปลกใจเลยที่วัดเลงเนยยี่จะมีผู้คนมาสักการะกราบไหว้เทพเจ้าทั้งหลายและเดินทางมาเพื่อการแก้ชงและเสริมดวงชะตา ยิ่งช่วงปีใหม่และตรุษจีนคนจะกันเยอะเป็นพิเศษ

2. ศาลเจ้าแม่กวนอิม มูลนิธิเทียนฟ้า

มูลนิธิเทียนฟ้า เป็นมูลนิธิแห่งแรกในประเทศไทยที่ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2445 โดยเป็นการรวมตัวกันของกลุ่มชาวจีน 5 ภาษา จุดประสงค์เพื่อสงเคราะห์ผู้ป่วยที่ยากไร้ให้ได้รับการรักษาพยาบาลอย่างทั่วถึง ที่นี่มีทั้งการรักษาแบบแผนปัจจุบันและแผนจีน นอกจากนี้แล้วที่นี่ยังเป็นที่ประดิษฐานของเจ้าแม่กวนอิม พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรปางประทานพรที่แกะสลักมา จากไม้เนื้อหอมอันโด่งดัง ผู้คนมักนิยมมากราบไหว้ขอพรเรื่องโรคภัยไข้เจ็บ ขอให้มีสุขภาพแข็งแรง

3. ศาลเจ้าเล่งบ๊วยเอี๊ยะ

ศาลเจ้าเล่งบ๊วยเอี๊ยะเป็นอีกหนึ่งศาลเจ้าชื่อดังที่ผู้คนนิยมมากราบไหว้เพื่อเสริมความเฮง รับพรปีใหม่ รวมไปถึงการสะเดาะเคราะห์แก้ชง ศาลเจ้านี้ตั้งอยู่ที่เยาวราช แขวงสัมพันธวงศ์ เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นศาลเจ้าแต้จิ๋วที่เก่าแก่มาก มีอาคารหลังเดียวซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมแบบจีน ภายในประดิษฐานเล่งบ๊วยเอี๊ยะ เทพเจ้าหางมังกร และภรรยาเป็นประธาน ส่วนฝั่งซ้ายเป็นแท่นเทพเจ้ากวนอู และฝั่งขวาเป็นแท่นประทับราชินีแห่งสวรรค์ อีกทั้งยังมีโบราณวัตถุมากมาย เช่น ป้ายโบราณ ที่จารึกในรัชสมัยจักรพรรดิกวังซฺวี่แห่งราชวงศ์ชิง หรือป้ายจารึกในราชวงศ์หมิง

4. วงเวียนโอเดียน

วงเวียนโอเดียนตั้งอยู่ตรงจุดตัดระหว่างถนนเจริญกรุง ถนนเยาวราช และถนนมิตรภาพไทย-จีน เป็นซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติ 6 รอบพระชนมพนนษา สร้างขึ้นในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช หรือในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงเจริญพระชนมพรรษา ครบ 80 พรรษา ในปี พ.ศ.2542 โดยที่ยอดหลังคาซุ้มจะมีมังกรอีก 2 ส่วนตัวซุ้มประตูจะจารึกคำว่า “เทียน” ซึ่งหมายถึงฟ้า ตรงข้ามกับ “ตี้” ที่หมายถึงดิน และมุมทั้งสี่จะมีรูปค้างคาวหรือ “ฟู่” พ้องเสียงกับคำว่าโชคลาภในภาษาจีนกลาง และต้นไผ่หรือ “เต็ก” ในภาษาแต้จิ๋วแปลว่าคุณธรรมนั่นเอง และอีกด้ายหนึ่งจะจารึกอักษรจีน “เซิ่ง โช่ว อู๋ เจียง” หมายถึง “ทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน” ซุ้มประตูนี้จึงกลายจึงเป็นสัญลักษณ์ของไชน่าทาวน์ไปแล้ว

5. วัดไตรมิตรวิทยารามวรวิหาร

วัดไตรมิตรวิทยารามวรวิหาร หรือ มีอีกชื่อหนึ่งว่า 'วัดสามจีน' เพราะมีเรื่องเล่าว่ามีชาวจีน 3 คน ช่วยกันสร้างวัดนี้ขึ้นมา วัดแห่งนี้ตั้งอยู่ถนนเจริญกรุง แขวงตลาดน้อย เขตสัมพันธวงศ์ ไฮไลท์ของวัดแห่งนี้ก็คือพระมหามณฑปที่ประดิษฐานพระพุทธมหาสุวรรณปฏิมากร หรือ หลวงพ่อทองคำ ซึ่งเป็นพระพุทธรูปทองคำบริสุทธิ์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก เป็นพระพุทธรูปที่วิจิตรงดงามมากๆ อีกทั้งในวัดแห่งนี้ยังมีพิพิธภัณฑ์วัดไตรมิตร ศูนย์ประวัติศาสตร์เยาวราช ซึ่งภายในพิพิธภัณฑ์ได้บอกเล่าเรื่องราวของชาวจีนโพ้นทะเลที่มาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร และต่อมาได้สร้างความรุ่งเรืองบนถนนสายทองคำบนผืนแผ่นดินไทย ซึ่งก็คือถนนเยาวราชสายและสำเพ็งนั่นเอง จนทำให้ถนนเยาวราชกลายเป็นย่านการค้าที่ใหญ่ที่สุดและมีชื่อเสียงที่สุดของกรุงเทพฯ

6. พิพิธภัณฑ์ทองคำ ห้างทองตั้งโต๊ะกัง

ถนนเยาวราชเป็นที่ตั้งของร้านทองเป็นร้อยร้าน บางร้านเก่าแก่มากกว่าถึง 160 ปี นั่นก็คือร้านทองตั้งโต๊ะกัง เพื่อถ่ายทอดความเก่าและประวัติความเป็นมาของห้างทองนี้ พิพิธภัณฑ์ทองคำ ห้างทองตั้งโต๊ะกังจึงได้ถูกสร้างขึ้น ตึกพิพิธภัณฑ์นี้ถูกสร้างขึ้นตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 เป็นตึก 7 ชั้นที่ออกแบบโดยสถาปนิกชาวฮอลันดา พิพิธภัณฑ์ได้จัดแสดงเกี่ยวกับเครื่องมือเครื่องที่ใช้ในการทำทอง รวมไปถึงประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวกับการค้าทองคำ ได้แก่ แม่พิมพ์ (บล็อก) สำหรับปั๊มทองคำหลากหลายรูปแบบ และกรรมวิธีในการทำทองอีกด้วย ใครสายประวัติศาสตร์ที่นี่นับเป็นหนึ่งพิพิธภัณฑ์ที่น่าสนใจในย่านเยาวราช

7. ร้านก๋วยจั๊บอ้วนโภชนาเยาวราช

หากใครที่วางแผนจะมาเที่ยวเยาวราช และลิสต์ชื่อร้านอาหารที่ต้องไปทานให้ได้ ร้านก๋วยจั๊บอ้วนโภชนาจะต้องเป็นหนึ่งในนั้น ร้านจะตั้งอยู่ที่ถนนเยาวราช แขวงสัมพันธวงศ์ เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร ร้านก๋วยจั๊บนี้เก่าแก่เปิดมานับ 50 ปีแล้ว และยังได้รับรางวัลมิชลินไกด์ 3 ปีซ้อนอีกด้วย เป็นที่เลื่องลือว่าเส้นก๋วยจั๊บที่นี่เหนียวนุ่มกำลังดี ส่วนน้ำซุปของก๋วยจั๊บนั้นก็มีเอกลักษณ์มากๆ เพราะมีหอมกลิ่นพริกไทย และสมุนไพรต่างๆ และไฮไลท์อีกหนึ่งอย่างของก๋วยจั๊บอ้วนก็คือหมูกรอบ ที่ทั้งกรอบนอกและชั้นมันของหมูกรอบก็ละลายในปาก ทำให้ซดแล้วคล่องคอสุดๆ ขอเตือนว่าร้านคนเยอะตลอดทั้งวัน ใครอยากทานต้องรีบมาจับจองที่กันนะ

8. Lhong Tou Cafe

มาถึงเยาวราช จะไม่ทานติ่มซำได้อย่างไร Lhong Tou Cafe เป็นคาเฟ่สไตล์จีนร่วมสมัยที่เสิร์ฟติ่มซำแบบฟิวชั่น รวมไปถึงเมนูอาหารจีนสไตล์ดั้งเดิม ที่ถูกเสิร์ฟออมาด้วยภาชนะแบบอลังการ เช่น เซ็ทข้าวต้ม ที่ประกอบไปด้วยเครื่องเคียงแบบจีนโบราณแท้ๆ อย่างเกี่ยมฉ่ายน้ำมันงา ไข่แดงเค็ม กุนเชียง หมูหยอง กานาฉ่าย ใบปอผัดไชโป๊ว ไชโป๊วเห็ดหอม และปลาฉิงฉ้างทอด และที่พลาดไม่ได้เลยก็คือซาลาเปาทอดสอดไส้ครีมไข่เค็ม ที่บอกเลยว่าให้ไส้มาแบบทะลักจัดเต็มมากๆ และขนมจีบที่แป้งบางจนเห็นตัวไส้หมูสับกับใบกุยช่าย มีซอสสูตรเฉพาะของทางร้าน ที่ทำให้รสชาติมีเอกลักษณ์สุดๆ

9. ขนมปังเจ้าอร่อยเด็ดเยาวราช

ความอร่อยของขนมปังนั้นอยู่ที่ไส้ เพราะไส้ของทางร้านให้มาแบบจัดหนักจัดเต็มมาก แถมมีหลายไส้ให้เลือก ทั้งไส้คาวและหวาน มากกว่า 9 ไส้ ส่วนตัวขนมปังก็กรอบนอกนุ่ทใน ร้านจะเปิดเย็นหน่อย ประมาณ 18.00 น. สำหรับใครที่ต้องการทาน จะต้องมาจองคิวล่วงหน้า ไม่เช่นนั้นอาจจะอดทานได้ เพราะคิวจะยาวเป็นหางว่าวเลยทีเดียว

10. ลอดช่องสิงคโปร์เจ้าแรก แยกหมอมี

หากพูดถึงลอดช่องสิงคโปร์ที่เจ้าแรก ใครๆ ก็ต้องคิดถึง ลอดช่องสิงคโปร์เจ้าแรก แยกหมอมี ที่ตั้งอยู่สามแยกเจริญกรุง ใกล้ย่านเยาวราชนั่นเอง ที่เปิดขายมานานว่า 70 ปี ทั้งตัวลอดช่องและน้ำกะทิ ทำออกมาดีมาก หอมนัว ไม่หวานมาก เหมาะสำหรับคนที่ไม่ชอบทานหวาน แถมได้รสชาติของกะทิแบบเต็มๆ ตัดลอดช่องเหนี่ยวนุ่มกำลังดี ได้ทานลอดช่องเย็นๆ ตอนอากาศร้อนมันช่างชื่นใจ

คำถามพบบ่อยเกี่ยวกับเที่ยวเยาวราช

ร้านค้าบนถนนเยาวราชมีวันปิดให้บริการหรือไม่?

ช่วงเวลาไหนที่เราควรไปเยาวราชมากที่สุด?

วัดเล่งเน่ยยี่เปิดให้บริการกี่โมง?

ฉันต้องการเดินทางไปถนนเยาวราชด้วยรถไฟใต้ดิน MRT ควรลงสถานีใด?

ถนนเยาวราชสามารถจอดรถได้หรือไม่?