ความหมายของพิธีชงชา
การชงชาภาษาญี่ปุ่น เรียกว่า ซะโด (Sadou) หรือ ชะโด (Chadou) ซึ่งมาจากคำว่า ซะ (Sa) หรือ ชะ (Cha) ที่แปลว่า “ชา” รวมกับคำว่า โด (Dou) ที่แปลว่า “วิถี” รวมกันจึงหมายถึง “วิถีแห่งชา” นั่นเอง ซึ่งจุดมุ่งหมายของซะโด (Sadou) นั้นก็คือ การแสดงออกถึงความเคารพและความงามในการต้อนรับแขกผู้มาเยือน ทำให้แขกได้เห็นถึงมิตรภาพระหว่างเจ้าบ้านและแขกผู้มาเยือน ผ่านการแสดงศิลปะการชงชา อันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่ถือเป็นศิลปะชั้นสูงที่ทรงคุณค่า
ความเป็นมาของพิธีชงชาในญี่ปุ่น
แท้จริงแล้ว “การดื่มชา” เป็นวัฒนาธรรมจากประเทศจีนที่ถูกนำเข้ามาเผยแพร่ในประเทศญี่ปุ่นในช่วงศตวรรษที่ 8 โดยเหล่านักบวชที่เข้ามาเผยแพร่ศาสนา จนต่อมาในช่วงปลายศตวรรษที่ 12 การดื่มชา โดยการชงชาด้วยผงชาเขียวมัทฉะเริ่มแพร่หลายในเฉพาะกลุ่มคนชนชั้นสูง เช่น หมู่นักรบ ขุนนาง ตลอดจนพ่อค้าที่ร่ำรวย รวมไปถึงกลุ่มคนผู้มั่งคั่งในหมู่สังคมชั้นสูง ที่มักจะมารวมตัวกันในงานแสดงศิลปะ และมีพิธีชงชาและดื่มชาจากเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของงาน
จนกระทั่งช่วงศตวรรษที่ 14 โดยท่านเซ็น โนะ ริคิว ซึ่งเป็นบิดาแห่งพิธีชงชายุคใหม่ ท่านได้พัฒนาพิธีชงชาให้มีแบบแผนและขั้นตอนที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้นเต็มไปด้วยความเรียบง่าย แต่ศักดิ์สิทธิ์และแฝงไปด้วยแนวคิดของศาสนาพุทธนิกายเซน ซึ่งจะเน้นให้จิตวิญญาณของผู้ชงเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติ ก่อนการชงและขณะชงชา ผู้ชงจะต้องทำจิตใจให้สงบและบริสุทธิ์ผุดผ่อง เพื่อให้ชาที่ชงออกมานั้นไร้ที่ติ
อุปกรณ์ชงชา
- คะมะ (Kama) - กาน้ำสำหรับใช้ต้มน้ำใส่ชา
- ชะอิเระ (Chaire) - โถใส่ชา
- นัทสึเมะ (Natsume) - โถสำหรับใส่ผงชามัทฉะ
- ชะวัง (Chawan) - ถ้วยชาขนาดใหญ่ ซึ่งจะแตกต่างไปตามฤดูกาล
- ชะฉะคุ (Chashaku) - ช้อนตักผงชา ทำจากไม้ไผ่ จะมีลักษณะยาว ปลายแหลมเล็ก
- ชะเซน (Chasen) - อุปกรณ์สำหรับคนชา ที่ทำจากไม้ไผ่
- ฮิชะคุ (Hishaku) - กระบวยสำหรับตักน้ำเพื่อชงชา
- ชะคิง (Chakin) - ผ้าสำหรับเช็ดทำความสะอาดถ้วยชา ที่ทำจากป่าน
ห้องชงชา
ห้องชงชา เรียกว่า Chanoyu, Sado หรือเรียกง่ายๆ เลยว่า Ocha เป็นห้องสำหรับไว้ประกอบพิธีชงชา โดยที่ห้องชงชาจะสามารถรองรับคนได้ประมาณเพียง 5-6 คนเท่านั้น ภายในห้องชงชาจะถูกตกแต่งแบบเรียบง่าย อาจจะตกแต่งด้วยรูปแขวนและแจกันอย่างละ 1 ชิ้น และพื้นจะปูด้วยเสื่อทาทามิ ในประเทศญี่ปุ่นจะมีห้องชงชสแบบดั้งเดิมให้ได้ไปเยี่ยมชมและสัมผัสพิธีการชงแบบดั้งเดิมของญี่ปุ่นกัน ได้แก่
- ห้องชาคะคินุมะ ตั้งอยู่ละแวกย่านอาซากุสะ โตเกียว
- โนะบะตะ ชาโฮะ ในเมืองทะคะยะมะที่กิฟุ เป็นร้านชาเก่าแก่ที่เริ่มกิจการมาตั้งแต่สมัยเมจิที่ 13
- ฟุคุจูเอ็น ในเกียวโต ซึ่งเป็นร้านจำหน่ายชาที่ดำเนินกิจการมายาวนานกว่า 230 ปี จึงมีหลายสาขาทั่วญี่ปุ่น
- ที เซเรโมนี่ โคะโตะ ในเกียวโต อยู่ไม่ไกลจากวัด คินคะคุจิ
ชาเขียวที่นิยมใช้ในพิธีชงชา
ชาเขียวที่นิยมใช้ในพิธีชงชาซึ่งก็คือชาเขียวแบบมัทฉะ ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่
- อุซุฉะ (Usucha) - เป็นชาที่นิยมกันทั่วไป ซึ่งจะมีรสอ่อน นิยมชงในถ้วยเล็ก และชงสำหรับดื่มคนเดียว
- โคอิฉะ (Koicha) - ชาแบบเข้มข้น โดยจะใส่ผงชามากกว่าแบบอุซุฉะ จึงชงให้มีรสชาติของชาเข้มข้นแบบพิเศษ นิยมชงในถ้วยใหญ่ สำหรับดื่มกันหลายคน
ขั้นตอนการชงชา (Tea Ceremony)
- เสิร์ฟขนมและรับประทานให้หมดก่อนการเสิร์ฟชา โดยมักเป็นขนมประจำท้องถิ่นหรือขนมหวานดั้งเดิมแบบญี่ปุ่น
- ผู้ชงชาใช้ช้อนตักผงชาจากโถใส่ลงไปในถ้วยชา หลังจากนั้นใช้กระบวยตักน้ำร้อนใส่ในถ้วยชา
- ผู้ชงใช้ชะเซนหรืออุปกรณ์สำหรับคนชา คนชาให้เข้ากัน จนชาแตกฟอง
- หลังจากนั้นนำไปวางไว้บนเสื่อทาทามิตรงด้านหน้าของแขก
- ผู้ดื่มชาจะกล่าวขออนุญาตดื่มชา หลังจากนั้นยกถ้วยชาด้วยมือขวา แล้ววางลงบนฝ่ามือซ้าย
- หลังจากดื่มชาแล้ว ผู้ดื่มจะเช็ดขอบถ้วยตรงบริเวณที่ดื่ม แล้วหมุนถ้วยชาทวนเข็มนาฬิกาสามครั้ง
- วางถ้วยชาลงที่เดิม พร้อมโค้งคำนับขอบคุณผู้ชงชา
มารยาทในการดื่มชา
- ผู้ดื่มชาจะต้องกล่าวขออนุญาตดื่มชา โดยกล่าวว่า “โอะซะกินิ” หมายถึง ขออนุญาตทานก่อนนะคะ/ครับ นอกจากจะเป็นมารยาทในการดื่มชาแล้ว ยังเป็นมารยาทพื้นฐานในการรับประทานอาหารกับคนที่ร่วมโต๊ะด้วย
- หลังจากที่ได้รับการเสิร์ฟน้ำชาแล้ว ต้องระวังอย่าดื่มน้ำชาจากด้านหน้าของถ้วยชา เพราะถ้วยชานั้นจะถูกส่งมาให้ โดยจะหันด้านหน้าถ้วยชามาทางด้านผู้รับอยู่แล้ว
- ไม่ควรดื่มชาที่เดียวจนหมด ควรจะแบ่งดื่มสักสองถึงสามครั้ง
- หลังจากดื่มชาเสร็จเรียบร้อยแล้ว จะต้องชื่นชมชา ถ้วยชาและผู้ชงชา ด้วยการยกขึ้น โดยจะต้องหันด้านที่มีลวดลายไปทางเจ้าบ้านหรือผู้ชงชา ก่อนจะวางถ้วยชาลง