ซูโม่คืออะไร
"ซูโม่" เป็นกีฬาประจำชาติของญี่ปุ่น และถือเป็นกีฬาชนิดหนึ่งที่เก่าแก่ที่สุด มีประวัติยาวนานถึง 1,500 ปีแล้ว อีกทั้งยังเป็นศิลปะการต่อสู้ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ตั้งแต่ท่าการต่อสู้และการแต่งกาย นอกจากนี้แล้วยังมีธรรมเนียมประเพณีที่น่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็นวิถีชีวิตของนักซูโม่เอง รวมถึงพิธีกรรมก่อนและหลังการแข่งซูโม่ เนื่องจากซูโม่ไม่ได้เป็นแค่กีฬาที่แข่งเพื่อแพ้ชนะ แต่ยังมีความหมายเชิงนัยยะในทางศาสนาและวัฒนธรรมที่แฝงมาด้วย ทำให้ซูโม่เป็นกีฬาที่ของชาติญี่ปุ่นที่น่าสนใจมากๆ
ลำดับชั้นของซูโม่
ส่วนใหญ่แล้วกีฬาทุกชนิดจะมีหลายระดับ การแข่งซูโม่ก็เช่นกัน ซึ่งแบ่งออกเป็น 7 ระดับด้วยกัน เรียงตามลำดับจากต่ำไปสูงดังนี้
- Banzukegai
- Jonokuchi
- Jonidan
- Sandanme
- Makushita
- Juryo
- Makuuchi
กติกาของการแข่งซูโม่
กฏและกติกาของซูโม่นั้นค่อนข้างเรียบง่าย ไม่ซับซ้อน โดยมีการตัดสินแพ้ชนะประกอบด้วยกฏเพียงไม่กี่อย่างเท่านั้น ได้แก่
- ทำให้อีกฝ่ายหนึ่งล้มลงบนพื้น
- ทำให้อวัยวะส่วนอื่นนอกเหนือจากเท้าแตะพื้น
- ทำให้ร่างกายของคู่ต่อสู้ออกจากลานแข่งขันได้
ชมการแข่งขันซูโม่ได้ที่ไหน
ฤดูการแข่งขันของซูโม่ในญี่ปุ่นจะไม่เหมือนกีฬาชนิดอื่นๆ โดยการแข่งซูโม่จะถูกแบ่งออกเป็นรอบเล็กๆ ซึ่งหนึ่งปีจะมีการแข่งขันถึง 6 รอบ และหนึ่งรอบการแข่งขันใช้เวลาเพียง 50 วันเท่านั้น ก็สามารถรู้ผลแล้วว่าใครเป็นแชมป์ โดยทั้ง 6 รอบจะจัดกันคนละเวลาและสถานที่แตกต่างกันออกไป โดยไม่ได้จัดทุกเดือน เดือนที่จัดก็คือเดือนที่ 1, 3, 5, 7, 9, 11 ซึ่งใน 6 ครั้งการแข่งขันซูโม่นี้ จะแข่งที่โตเกียวถึง 3 ครั้ง และที่เหลือจะจัดที่เมืองโอซาก้า นาโกย่า และฟุกุโอกะ เพียงเมืองละหนึ่งครั้ง
- เดือน 1, 5, 9 สามครั้ง แข่งที่โตเกียว
- เดือน 3 แข่งที่โอซาก้า
- เดือน 7 แข่งที่นาโกย่า
- เดือน 11 แข่งที่ฟุกุโอกะ
ชมการแข่งขันซูโม่ได้เมื่อไหร่
สนามแข่งซูโม่ที่ใช้ในการแข่งขันจะมีเพียง 4 สนามเท่านั้น ได้แก่
- Ryogoku Kokugikan: สำหรับการแข่งขันทั้งสามรอบที่โตเกียว
- Osaka Prefectural Gymnasium (Edion Arena Osaka) : สำหรับการแข่งขันที่โอซาก้า
- Aichi Prefectural Gymnasium: สำหรับการแข่งขันที่นาโกย่า
- Fukuoka Kokusai Center: สำหรับการแข่งขันที่ฟุกุโอกะ
วัฒนธรรมของนักซูโม่
- ทรงผมของนักซูโม่
นักซูโม่จะไว้ทรงผมที่เรียกว่า "ชนมาเกะ" ซึ่งเป็นทรงเดียวกับซามูไร แต่ทรงผมของนักซูโม่จะแตกต่างกับซามูไรตรงที่จะไม่มีการโกนผมตรงกลางออก แต่จะไว้ผมยาวแล้วมัดผมรวมตรงกลาง ดูแล้วคล้ายดังโงะบนศีรษะ ส่วนโม่ที่ชั้นสูงขึ้นหรือเมื่อต้องออกงานจะทำทรง "ไดกินนัน" ซึ่งจะเป็นการมัดจุกเช่นเดียวกัน แต่จะจะมัดจุกให้บานออกจนเหมือนใบแปะก๊วย
- การแต่งกายของนักซูโม่
นักซูโม่จะไม่ใส่เสื้อ แต่จะใช้ผ้าที่เรียกว่า Mawashi เป็นผ้าที่พันไว้บริเวณรอบเอว คล้ายกางเกงขาสั้น ซึ่งจะปกปิดเฉพาะอวัยวะเพศเท่านั้น ซึ่งการแต่งกายน้อยชิ้นนั้นเกี่ยวข้องกับพิธีกรรมทางศาสนาชินโตของญี่ปุ่น เนื่องจากผู้ที่เป็นนักซูโม่จะต้องมีความจงรักภักดีต่อเทพพระเจ้าในศาสนาชินโต และการใส่เสื้อผ้าน้อยชิ้นเป็นการแสดงความบริสุทธิ์ใจ ไม่มีการฉ่อโกงแต่อย่างใดนั่นเอง
- อาหารของนักซูโม่
หลายคนคงทราบกันแล้วว่านักซูโม่จะต้องมีรูปร่างใหญ่และอ้วนท้วนสมบูรณ์ เพื่อขุนตัวเองให้มีร่างกายใหญ่ขนาดนั้น จะต้องกินให้ได้ประมาณ 20,000 แคลอรีต่อวัน โดยอาหารหลักของนักซูโม่นั่นก็คือ "Chanko-Nabe" หรือหม้อไฟที่ส่วนประกอบหลักจะเน้นโปรตีนทั้งหมด ได้แก่ เนื้อ ปลา ผัก เต้าหู้ สริมด้วยข้าวสวยหรืออุด้งมากกว่าสิบชาม และปิดท้ายด้วยเบียร์ การทานอาหารมากขนาดนี้ ไม่แปลกใจเลยที่นักซูโม่จะตัวมหึมาขนาดนั้น
มารยาทในการชมซูโม่
- ไม่ควรยืนขึ้นหรือคุกเข่าบนที่นั่งระหว่างการแข่งขัน เพราะอาจจะบังคนที่นั่งชมอยู่ข้างหลังได้
- สำหรับผู้ที่ชมการแข่งขันซูโม่ที่นำอาหารและเครื่องดื่มมารับประทาน จะต้องรักษาความสะอาด โดยการนำขยะไปทิ้ง
- สำหรับใครที่จองที่นั่งชั้นดีที่สุดที่เรียกว่า ทามาริเซกิ (Ringside) ซึ่งจะเป็นที่นั่งแบบพื้นที่ใกล้กับเวทีที่สุด จึงจะต้องมีกฏข้อบังคับมากกว่าที่นั่งปกติ นั่นก็คือต้องถอดรองเท้าและนั่งขัดสมาธิเพื่อรับชมเป็นเวลานาน ซึ่งอาจจะทำให้เมื่อยได้ และที่สำคัญห้ามรับประทานอาหารและเครื่องดื่มเด็ดขาด
- สำหรับคนรับชมบนนั่งทามาริเซกิที่อยู่แถวหน้าสุด อาจจะต้องระวังนักซูโม่ที่ตกลงมาจากเวที แต่ปกติแล้วจะมีกรรมการคอยป้องกันให้